Sunday, October 10, 2004
Man & His Search for Truth and Meaning of Life
โดย อ.สมภาร พรมทา อ.ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาตร์ จุฬาฯ
I will attempt to finish my book review by tonight! Don't want to sleep so late like last night, though. Wanna get into the right groove so that I can wake up early for my Sunday's Statistic classs! Sigh...who would think that one day I have to go to a stat class on a Sunday morning!?! :)
สงสัยทำ book review เป็นภาษาไทยท่าทางจะเร็วกว่านะวันนี้ ขอผัดผ่อนฝันอันสวยหรูว่าจะทั้งย่อและแปลหนังสือปรัชญาเล่มแรกของชีวิต(ที่ซื้อเอง ไม่ได้เป็น textbook) ไว้ก่อนดีกว่า เดี๋ยวพอดีไม่ต้องไปทำการ ทำงานอย่างอื่นกัน แล้วไหนจะต้องมะงุมมะงาหราหาคำสั่งต่าง ๆ ของเจ้า Blog นี้อีก :)
บทนำ
อ.สมภารเปิดเรื่องว่า เราสมควรจะเริ่มศึกษาปรัชญาอย่างไร แรกเลยอ.บอกว่า วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว ไม่เหมือนวิชาพวกคณิตศาสตร์ เฮ้อ...แค่ถึงขั้นนี้ฉันก็ชักจะเริ่มปวดหัวแล้ว ฉันนึกถึงการเถียงกันไปไม่รู้จบ อาจารย์ให้เหตุผลดังต่อไปนี้ว่า ทำไม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิชาปรัชญาจะไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว (แล้วเหตุผลนี้ตายตัวด้วยหรือเปล่าอาจารย์?)
- เนื้อหาปรัชญาว่าด้วยสิ่งที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ อ.อธิบายต่อไปว่า ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ มักจะมีอยู่ ๒ วิธี อย่างแรกคืออธิบายในแง่ "อย่างไร" และอย่างที่สองในแง่ของ "ทำไม" อ.บอกว่า ทางปรัชญาจะสนใจอย่างหลังมากกว่า ฉันคิดเองต่อเล่น ๆ ว่า สงสัยเป็นเพราะอย่างแรกคิดไปคิดมาแล้วมันอาจหาข้อยุติได้นั่นเอง (ว่าต้องทำ "อย่างไร" ฯลฯ) อ.บอกว่า การตอบในแง่ "อย่างไร" นั้น เป็นการตอบที่ต้องใช้อายตนะ (ประสาทสัมผัส) ต่าง ๆ มาตอบ ส่วนการตอบคำถาม "ทำไม" นั้น เป็นการใช้ความสามารถในการให้เหตุผลมาตอบ
- ปัญหาในการศึกษาปรัชญาเป็นปัญหาที่พื้นฐานที่สุด อ่านถึงตรงนี้ฉันออกจะงง ๆ แต่พออ่านต่อปรากฏว่ายิ่งงงหนัก (แล้วฉันจะเรียนจบไหมฟะเนี่ย) นั่นก็คือ อ.บอกว่า คนสองคนอาจจะถกกันว่า ในห้องนี้มีแมวอยู่หรือไม่ ความจริงการถกเถียงนั้นน่าจะจบลงได้ที่เมื่อเปิดประตูเข้าไปดูแล้วเห็นว่ามีแมวหรือเปล่า แต่ไม่อะ, นักปรัชญาจะไม่จบง่าย ๆ เช่นนั้น ต่อให้เปิดไปแล้วเห็นแมวอยู่ ฝ่ายหนึ่งก็อาจจะยังเถียงต่อไปอีกว่า แล้วรู้ได้ยังไงว่านั่นมันเป็นแมว มันอาจไม่ใช่แมวก็ได้ เราจะเชื่อประสาทสัมผัสเราได้อย่างไร ว่าความจริงแล้วมันคือแมว ไม่ใช่หมา เฮ้อ..ฉันถอนหายใจดัง ๆ อีกรอบ แล้วเริ่มอยากเอาหัวโขกโต๊ะ
- วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่ไม่มีความสมบูรณ์ของแนวคิด มาถึงตรงนี้ฉันชักจะมั่นใจแล้วว่า การเรียนปรัชญาของฉันหนนี้คงไม่ได้ต่างไปกับตอนที่เคยเรียนตอนเด็ก ๆ เลย เพราะฉันคงจะไม่รุ่งเอาจริง ๆ ด้วย ในส่วนนี้ อ.สมภารบอกว่า วิชาปรัชญาเป็นวิชาที่มีความต่อเนื่อง เมื่อมีการเสนอแนวคิดนึงออกมา ก็จะมีคนมาเสนอต่อ มาคัดค้าน แล้วก็ทำต่อกันเรื่อยไปเป็นลูกโซ่
ถึงตรงนี้ฉันขอยกมือถามอาจารย์อยู่ในใจดีกว่าว่า คนเราสนใจที่จะศึกษาสิ่งที่ไม่มีวันจบ หรือ เป็นลูกโซ่อย่างนี้ไปตลอดเลยหรือ? เขาไม่เบื่อกันหรือ? ฉันนึกถึงเรื่องที่อ.ศิริพรแห่งศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ชอบเล่าให้โยคี (คำเรียกผู้ปฏิบัติธรรม) ฟังในวันหลัง ๆ ของการปฏิบัติจัง ที่ว่า ในค่ำคืนวันที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้นั้น ในตอนยามต้น ทรงได้บุพเพนิวานุสาสติญาณ ทรงรำลึกชาติของพระองค์เองได้ แล้วก็ทรงกำหนด เล็งพระญาณดูเรื่อยไป ก็เห็นเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนหนังย้อนกลับ กรอกันไปอยู่นั่นแหละ ตั้ง ๕๐๐ ชาติแล้วก็ยังไม่รู้จบ เป็น Never-Ending Story ท่านยังทรงเกิดความเบื่อ และ เหนื่อยหน่ายเป็นล้นพ้น ทรงเบื่อในการเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่นั่นแล้ว เกิดมาแล้วก็มีแต่เรื่องซ้ำ ๆ กันไปไม่จบสิ้น มีรัก โลภ โกรธ หลง สูญเสีย ตายเอง แล้วก็เกิดใหม่อยู่อย่างนี้ ท่านยิ่งทรงอยากหลุดพ้นจากวงจรวงนี้ไปเลย
อือ...แต่ก็นั่นแหละ ในโลกนี้จะหามหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้าก็ยากนัก คำถามที่ฉันคิดสงสัยเมื่อกี๊นี้ก็มีคำตอบออกมาเองแล้วว่า ก็ลำพังสมองมนุษย์ก็คงคิดได้แค่อย่างนี้แหละ ถึงยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์อย่างนี้เรื่อยไป ถ้าคนเราเห็นอะไรที่มันซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แล้วเบื่อหน่ายแล้วมีความเพียรพยายามที่จะหาทางหลุดออกไปจากเรื่องซ้ำ ๆ นี้นั้น ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ นักปรัชญา ทั้งหลาย ก็คงพากันบำเพ็ญเพียร มุ่งหน้าบรรลุธรรมกันหมดแล้ว ไม่เหลือมานั่งวิเคราะห์ว่านี่เป็นแมว หรือ ไม่ใช่แมว อยู่ทุกวันนี้หรอกเนอะ
เอ้า...นอกเรื่องไปนาน ต่อจ้า ต่อ ว่า ดึกแล้ว สงสัยแปะไว้แค่นี้ก่อนล่ะมั้งวันนี้ ไว้พรุ่งนี้ถ้ามีเวลาจะมาต่อ บทที่ ๑ มนุษย์คืออะไร แต่สงสัยเอาเวลาไปทำการบ้านสถิติดีกว่า เอ...แผนการเรียนผ่าน Blog ของฉันจะไปรอดไหมเนี่ย? เอาเป็นว่า ถ้ามันทำให้เสียเวลามากฉันก็ไปสรุปใน Microsoft Word ของฉันเฉย ๆ ดีกว่า เป็นส่วนหนึ่งของการรวมเล่มเปเปอร์นี่แหละ แล้วค่อยมาสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ ไม่กี่ข้อใน blog นี้ก็แล้วกัน
<< Home